ได้โควตา แต่ไม่ได้เรียน

         ค่อนข้างดราม่าเลยทีเดียว เมื่อ ‘ติ๊ก – อุบลรัตน์ บุญเสนา’ ต้องหยุดการเรียนของตัวเองไว้เพียงชั้น ม.6 เนื่องจากสถานะของทางบ้านที่ไม่พร้อมอีกแล้ว ทั้งพ่อแม่ที่อายุมาก และพี่สาวที่แบกภาระหนักอึ้ง “พี่สาวขอให้หยุดเรียน เพราะส่งไม่ไหวแล้ว แม่ก็ไม่มีเงินส่ง ตอนนั้นเสียใจมาก เพราะสอบติดโควตาคณะนิเทศศาสตร์ สื่อสารมวลชน ที่ ม.ราชภัฏเพชรบูรณ์ เราสนใจเรียนด้านนี้ ไปรายงานตัวไว้แล้วด้วยค่ะ แต่ก็ต้องสละสิทธิ์ให้ตัวสำรองแทน” ฟังแล้วก็เศร้าแทนจริง

ติดวาร์ปสู่ช่วงทำงาน และเรียนอีกครั้ง

         ผิดหวังจากการเรียนต่อ ชีวิตเลยติดวาร์ปเข้าสู่ช่วงทำงานอย่างไว ติ๊กมาอยู่กับพี่สาวที่นนทบุรี แปลงร่างเป็นสาวโรงงานเต็มตัว “ทำงานที่โรงงานผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ส่องกล้องตรวจชิ้นงานเล็ก ๆ เหมือนชิปในชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ก็ทำอยู่ได้ 7 – 8 ปีค่ะ” จนชีวิตชาเลนจ์อีกรอบ เมื่อโรงงานโดนเทคโอเวอร์และติ๊กก็โดนปลด “เพื่อนเลยแนะนำให้มาสมัครที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า มาเป็นผู้ช่วยทันตแพทย์ ตอนนั้นเงินเดือนนิดเดียว ทำมาเรื่อย ๆ เขาก็ทยอยขึ้นและส่งมาเรียนเพิ่มค่ะ เป็นหลักสูตร 1 ปี” พอกลับมาเรียนอีกครั้งหลังหายไปสิบกว่าปี ติ๊กก็มีความตื่นเต้นเบา ๆ “มีอุปสรรค
ตั้งแต่เริ่ม เพราะช่วงโควิดเรียนออนไลน์ผ่าน Zoom เนื้อหาบางอย่างต้องทำแล็บก็ทำไม่ได้ เลยแก้ปัญหาเป็นหลังช่วง
เล็คเชอร์ออนไลน์ เวลาปฏิบัติการจริงถ้าไม่เข้าใจก็อาศัยถามอาจารย์ตอนนั้นเลย ให้อาจารย์ช่วยสอน ก็ผ่านมาได้ค่ะ”

ตัวช่วยค่าครองชีพ

         ค่าครองชีพยุคนี้บอกเลยว่ามีค่ามาก ทั้งค่านั่น ค่านี่ “หลักสูตรที่เรียน ทางโรงพยาบาลให้เป็นค่าเทอม
อย่างเดียวค่ะ เป็นทุนเรียนฟรี 1 ปี เรียนจบก็มาทำงานใช้ทุนอีก 2 ปี ตอนที่ติ๊กเรียน อาจารย์แนะนำให้สมัครทุนของมูลนิธิเอสซีจี เลยลองสมัครดู โชคดีที่ได้ทุน ก็เลยเอามาใช้เป็นค่าครองชีพค่ะ ถ้าไม่ได้ทุน รายจ่ายก็น่าจะเยอะพอสมควรเลย”

จากรู้น้อย กลายเป็นรู้ครบ

         ชีวิตการทำงานของติ๊กตั้งแต่จบ ม.6 คือไม่มีความรู้ด้านผู้ช่วยทันตแพทย์มาก่อนเลย เป็นการเริ่มต้นจากศูนย์
ที่แท้ทรู สกิลทุกอย่างก็มาฝึกจากหน้างานแบบสด ๆ ติ๊กเล่ายาว ๆ ว่า “ก่อนเรียนหลักสูตรผู้ช่วยทันตแพทย์ ติ๊กทำงานที่โรงพยาบาล 7 ปี มีหลายอย่างที่เราไม่มีความรู้นะ เพราะหมอก็ไม่มีเวลาอธิบายเราทั้งหมดหรอก แต่พอมาเรียน เราได้เบสิกครบ อย่างวิชา Anatomy ของฟันช่วยให้เข้าใจเวลาหมอสั่งเอกซเรย์ เราก็จะรู้ว่าฟันซี่หนึ่งมีหลายด้าน หลายมุม
มีปุ่ม มียอด ได้รู้เทคนิคการเอกซเรย์ว่าต้องเล็งด้านไหนถึงเห็นฟันชัด แยกลักษณะฟันบนฟันล่างได้จากฟิล์ม หรือเรื่องผสมวัสดุก็รู้เรื่องอัตราส่วนที่ชัดเจน ไม่ผสมตามความรู้สึก ช่วยให้เราโปรขึ้น เพิ่มสกิลการช่วยข้างเก้าอี้ได้มากค่ะ เวลาดูดน้ำลายคนไข้ก็ได้มุมได้องศาที่โอเค ไม่บังหมอ คนไข้ไม่สำลัก” จากที่เคยช่วยหมอได้แค่ 2 งานหลักคือ โรคเหงือกและรักษารากฟัน แต่หลังจากไปเรียนคือช่วยได้ครบเลย “พอเรียนจบกลับมาที่โรงพยาบาลก็ช่วยงานได้เกือบทุกอย่าง ทั้งงานทำฟันปลอม งานจัดฟัน เราก็เข้าไปทำได้หมด เพราะรู้จักเครื่องมือ รู้จักวัสดุแล้วค่ะ” ซึ่งติ๊กมองว่างานนี้ใช่เลย เพราะไม่ได้ใช้ร่างกายหนักเกินไป อายุมากกว่านี้ก็ยังพอทำไหวอยู่ “ตอนนี้ขอทำงานส่งลูกเรียนและเก็บเงินไปเรื่อย ๆ ก่อนค่ะ
สักวันคงกลับไปอยู่บ้านที่เพชรบูรณ์ ทำวิถีการเกษตรช่วงบั้นปลาย ตอนนี้ก็คิดถึงบ้านเรื่อย ๆ เลยค่ะ”