เติมฝัน ปันสุข

นายไพโรจน์ แซ่ตั้ง (นุ)

“อดีตนักเรียนทุน SCG Sharing The Dream โดย มูลนิธิเอสซีจี”

“ถ้าเราไม่เคยเรียนรู้กับความผิดพลาด
และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง
เราก็จะไม่รู้จักกับคำว่าพัฒนา
อันนำไปสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพ”

นายไพโรจน์ แซ่ตั้ง (นุ)

น้องๆ หลายคนอาจคิดว่าการจะเรียนให้ได้ผลการเรียนที่ดี ได้เกรดเฉลี่ยสูง และการพยายามรักษาเกรดนั้นเอาไว้ไม่ให้ตกจะต้องทุ่มเทเวลาให้กับการเรียน และการอ่านหนังสือให้มากโดยไม่มีเวลาออกไปเรียนรู้และทำกิจกรรมอะไรนอกห้องเรียน ซึ่งอันที่จริงแล้วทุกคนสามารถเรียนได้เกรดดีพร้อมกับเก็บเกี่ยว ประสบการณ์ชีวิต และมีเวลาสนุกสนานตามประสาวัยรุ่นได้เพียงแค่ต้องรู้จักแบ่งเวลาให้เป็นอย่าง นุ – ไพโรจน์ แซ่ตั้ง อดีตนักเรียนทุนจากมูลนิธิเอสซีจี ที่เรียนจบปริญญาบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากคณะวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี ปี 2562 มีกลเม็ดเคล็ดไม่ลับสู่ความสำเร็จจน นำพาชีวิตให้เจริญก้าวหน้ามาเล่าสู่กันฟัง

ใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย เมื่อเป้าหมายชัด ผลลัพธ์ก็ชัดเจน

      นุ เรียนจบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย ในช่วงที่นุเรียน ม.ปลายได้เรียนวิชาวิทยาศาสตร์กับอาจารย์สุเมธซึ่งอาจารย์จบจากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) อาจารย์สุเมธเป็นแรงบันดาลใจให้นุอยากเรียนวิศวะและอยากเรียนที่มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี พอเรียนจบชั้นมัธยมตอนปลายนุไม่ได้สมัครสอบที่ไหนเลย เขามุ่งตรงไปที่มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรีเพียงแห่งเดียวแล้ว นุก็สามารถสอบเข้าเรียนได้ที่มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรีสมดั่งที่ตั้งใจ
นุเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า เหตุผลที่เลือกเรียนวิศวกรรมไฟฟ้าเพราะจำได้ว่าตอนเด็กๆ เคยเห็นพ่อต่อวงจรไฟฟ้าแล้วรู้สึกชอบจนทำให้ตัวเองมีความสนใจอะไรที่เกี่ยวกับ
ไฟฟ้ามากกว่าพวกเครื่องยนต์หรือพวกเคมี อีกทั้งได้ศึกษาหาข้อมูลมาแล้วว่าเรียนสาขาวิศวกรรมไฟฟ้ามีสายงานรองรับที่ค่อนข้างกว้างกว่าสาขาอื่นจึงทำให้นุตัดสินใจเลือกเรียนวิศวกรรมไฟฟ้า

       “เมื่อผมมีเป้าหมายที่ชัดเจน ก็ต้องหาวิธีการที่จะพาตัวเองไปถึงจุดหมายที่ต้องการให้ได้ ผมตั้งใจ
อ่านหนังสืออย่างหนักเพื่อที่จะได้เข้าเรียนในคณะที่ใฝ่ฝัน มหาวิทยาลัยที่ชื่นชอบ และอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ผมอยากเรียนที่ มจธ. คือใกล้บ้านเดินทางสะดวก และพอได้เข้าเรียนสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าแล้ว
ผมยิ่งรู้สึกว่ามันเข้ากับผมได้เป็นอย่างดี เรียนสนุก และมีความสุขมาก คงเป็นเพราะว่าผมชอบมันมาตั้งแต่เด็ก ๆ ถือเป็นสิ่งแรกที่ได้ตามฝันให้เป็นจริงทำให้ผมชอบวางแผนชีวิตให้ทุกย่างก้าวเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จ”

เกียรตินิยม รางวัลชีวิตของชีวิตนักศึกษา

      นุ ใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นปกติที่ออกไปเที่ยวเล่นเฮฮากับเพื่อนขณะเดียวกันผลการเรียนของนุก็ไม่เคยตก เป็นเพราะนุยึดตามกฎเหล็กที่ตัวเองตั้งขึ้นมาคือ ต้องอ่านทบทวนทำความเข้าใจในวิชาที่เรียนจบในคาบนั้นให้ได้ก่อนจะถึงคาบถัดไป หากมีจุดไหนอ่านทบทวนแล้วยังไม่เข้าใจจะจดสิ่งนั้นเอาไว้เพื่อสอบถามอาจารย์ในคาบต่อไป นุเริ่มตั้ง
กฎนี้มาตั้งแต่เข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย ซึ่งต้องเล่าย้อนกลับไปตอนเรียน
จบชั้นประถมศึกษานุก็คิดว่าจะเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนเดิม พอมีคนแนะนำให้ลองไปสอบเข้าที่โรงเรียนอื่น
เขาก็เลยไปทั้งที่ไม่ได้เตรียมตัวสอบ ปรากฏว่าสอบติดแต่คะแนนสอบทำได้ไม่ดีทำให้นุต้องเรียนอยู่ห้องท้ายๆ ซึ่งนุเองรู้สึกไม่พอใจตัวเองในตอนนั้นมาก ถ้าเขาตั้งใจตั้งแต่แรก เชื่อว่าเขาต้องทำได้ดีกว่านี้ นุจึงมีความคิดที่อยาก
จะย้ายไปเรียนในห้องหนึ่ง หรือที่ใครๆ เรียกกันว่าห้อง King ห้องที่มีแต่เด็กหัวกะทิระดับต้นๆ ของโรงเรียน
นุจึงไปปรึกษากับอาจารย์ว่าถ้าต้องการย้ายไปอยู่ห้องหนึ่ง จะต้องทำอย่างไร อาจารย์บอกให้นุตั้งใจเรียนให้ได้เกรดเฉลี่ย 3.8 ขึ้นไปจึงจะได้ย้ายไปอยู่ห้องหนึ่งได้ นุพยายามหาวิธีที่จะพาตัวเองไปสู่สิ่งที่เขาต้องการให้ได้ด้วยการตั้งกฎให้กับตัวเองว่าต้องอ่านทำความเข้าใจในเนื้อหาที่เรียนให้จบก่อนเขาจึงจะมีสิทธิ์ออกไปเล่นกับเพื่อนๆ ได้ ซึ่งกฎนี้ก็ทำให้นุได้ผลการเรียนดีขึ้นเป็นอย่างมากจนสามารถย้ายขึ้นมาอยู่ห้องหนึ่งได้สำเร็จตอนชั้นมัธยม
ปีที่ 2 หลังจากนั้นนุก็ใช้กฎนี้กับตัวเองเรื่อยมาตลอดจนกระทั่งถึงระดับมหาวิทยาลัย

“ผมเป็นคนมีวินัยทำตามกฎเหล็กของตัวเองแบบนี้มาตลอดจริงๆ เดิมทีผมไม่ได้เรียนเก่ง เรียนดี แต่เมื่อผม ลองใช้กฎนี้แล้วได้ผล ผมยังใช้ชีวิตแบบเด็กวัยรุ่นทั่วไป เพียงแต่ถ้ายิ่งผมเรียนรู้และเข้าใจได้เร็ว ผมก็จะมีเวลาออกไปเที่ยวเล่นได้โดยไม่ต้องมานั่งทบทวนภายหลังอีกหลายๆ รอบ ถือเป็นเคล็ดไม่ลับที่ผมอยากจะบอกให้ทุกคนลองทำ ดู และจะได้เห็นผลลัพธ์ที่ดี เหมือนที่ผมได้ใช้จริง ทำจริง แล้วประสบความสำเร็จอย่างในตอนนี้”

มากกว่าโอกาสทางการศึกษา คือการได้พัฒนาคุณภาพชีวิต

      แม่ของนุมีอาชีพเป็นช่างทำผม แม่ชอบพูดถึงลูกชาย เล่าเรื่องผลการเรียนที่ดีให้กับลูกค้าที่เข้ามาทำผมฟังเป็นประจำ จนวันหนึ่งมีคุณป้าที่เป็น อสม. ในหมู่บ้านนำใบสมัครการยื่นขอทุนจากมูลนิธิเอสซีจีมาให้นุลองสมัคร ซึ่งตอนนั้นนุเองก็สมัครโดยไม่ได้คาดหวังว่าอะไร แต่เมื่อได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิฯ ตอนนั้นนุรู้สึกตื้นตันดีใจกับโอกาสที่ได้รับ รวมถึงแม่และพ่อของนุเองก็รู้สึกปลาบปลื้มใจ ภาคภูมิใจในตัวลูกชายคนนี้ ถือเป็นรางวัลชิ้นแรกของการเป็นเด็กตั้งใจเรียนที่นุมอบให้กับครอบครัว นุได้ทุนจากมูลนิธิฯ ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาจนถึงจบปริญญาตรี และนุยังได้ร่วมกิจกรรมมากมายกับทางมูลนิธิฯ ในการพัฒนาศักยภาพนักเรียนทุน ได้เป็นหนึ่งใน SCG Foundation Ambassador ที่ทางมูลนิธิฯ ให้เป็นต้นแบบของคนเก่งและดีอีกด้วย
      “ผมรู้สึกตื้นตันใจที่ได้รับโอกาสจากมูลนิธิเอสซีจี ไม่คิดว่าจะได้รับโอกาสนี้เพราะคิดว่าเขาจะรับแต่คนเก่ง ๆ ซึ่งผมคิดว่าตัวผมไม่ได้เก่งอะไรมากแต่ทางมูลนิธิฯ ก็ได้เห็นในความตั้งใจของผมแล้วก็มอบทุนมา ระหว่างการเป็นนักเรียนทุนผมก็เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิฯ อยู่เสมอ มีกิจกรรมอะไรที่ทางมูลนิธิฯ ประกาศชวน ผมก็จะกระตือรือร้นที่จะสมัครเข้าร่วมตลอดเพราะรู้สึกว่าเขาให้โอกาสเรา เราก็ควรรับโอกาสนั้น ตลอดเวลาในการร่วมกิจกรรมต่างๆ มันบ่มเพาะให้ผมได้เรียนรู้การเป็นผู้ให้ เป็นคนเก่งและดี ที่มีน้ำใจ เช่น กิจกรรมจิตอาสาไปช่วยดูแลเด็กที่บ้านเด็กกำพร้า ไปเลี้ยงข้าวเด็กพิการ โครงการเยาวชนคนทำดีที่ผมรวมตัวกับเพื่อนๆ นักเรียนทุนออกไปทำความดีให้โดยใช้ทักษะความรู้ด้านไฟฟ้าที่มีไปช่วยเหลือชุมชมและโรงเรียน ซึ่งผมรู้สึกประทับใจและขอขอบคุณทางมูลนิธิฯเป็นอย่างสูงที่ดูแลกันเป็นอย่างดี เสมือนเป็นคนในครอบครัว เพราะมากกว่าการให้ทุนการศึกษา คือการได้พัฒนาคุณภาพชีวิต”

ทุกการเติบโต มีจุดเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลง

      หลังจากเรียนจบปริญญาตรีนุก็มีงานเข้ามาให้เลือกทำงานมากมาย เพราะเรียนจบสายนี้สามารถจะทำงานได้หลายด้าน อาทิ วิศวบริการ วิศวกรขาย วิศวกรโรงงานอุตสาหกรรม หรือวิศวกรสนามออกไซต์งานก่อสร้าง เพราะเป็นห่วงพ่อกับแม่นุจึงอยากทำงานที่ใกล้บ้าน เขาจึงตัดสินใจเลือกทำงานเป็นวิศวกรโรงงานอุตสาหกรรมที่บริษัทคลังน้ำมันใกล้บ้าน ทำงานไปได้สักพักนุก็ตัดสินใจลาออกเพื่อมาหาประสบการณ์การทำงานทางด้านวิศวกรบริการในบริษัทรับเหมาก่อสร้างซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นุได้เก็บเกี่ยวความรู้และได้ศึกษาเกี่ยวกับระบบต่าง ๆ ที่จะนำมาปรับปรุงพัฒนาเครื่องจักร นอกจากนี้ทำให้นุรู้ว่าตัวเองก็ชื่นชอบและมีความสามารถด้าน Automation ของวิศวกรไฟฟ้าอีกด้วย หลังจากทำงานที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างได้ประมาณ 7 เดือน นุก็ตัดสินใจลาออกอีกครั้งแล้วกลับไปทำงานเป็น วิศวกรไฟฟ้าที่โรงงานอุตสาหกรรมในตำแหน่ง Automation Engineer บริษัท พัทยาฟู้ด อินดัสตรี จำกัด

      “ผมเป็น Service Engineer ที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างประมาณ 7 เดือน แล้วต้องออกต่างจังหวัดบ่อย ก็ยังสนุกกับงานอยู่นะครับ แต่ผมก็เป็นลูกคนเดียวไม่มีใครคอยดูแลพ่อแม่ก็รู้สึกเป็นกังวล ไม่สบายใจ ผมจึงตัดสินใจลาออกแล้วกลับมาทำงานวิศวกรไฟฟ้าสายโรงงานเหมือนเดิม แต่คราวนี้ผมมีเป้าหมายใหม่จึงสมัครในตำแหน่ง Automation Engineer ผมว่าผมมาถูกทางแล้ว แม้ว่าจะต้องเสียเวลาไปประมาณปีครึ่งในการหาสิ่งที่ชอบแต่มันก็คุ้มค่ากับประสบการณ์ที่ได้รับมา เพราะทุกการเติบโต ต้องอาศัยความกล้าในการเปลี่ยนแปลงเพื่อที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ”

ทุกความสำเร็จ ต้องใช้ความพยายาม

      นอกจากได้ทำงานในตำแหน่งงานที่ชอบกับบริษัทที่อยู่ไม่ไกลจากบ้าน ทำให้มีเวลาได้อยู่กับครอบครัวแล้ว นุยังรับงานเขียนแบบวงจรไฟฟ้า ออกแบบตู้ควบคุมต่าง ๆ และงานติดตั้งมอเตอร์เปิด/ปิดประตูรั้วบ้าน เป็นรายได้เสริม โดยแบ่งเวลาหลังจากทำงานประจำเสร็จกลับบ้านกินข้าวกับครอบครัวแล้วทำงานเสริมต่อ ชีวิตของนุดูเหมือนจะราบรื่นมาตั้งแต่ต้นแต่ที่จริงแล้วมีช่วงที่ต้องพบกับอุปสรรคอยู่บ้างแต่ก็ผ่านมาได้ด้วยการใช้คติ No Pain No Gain คือการที่ทำให้ตัวเองเจ็บเพื่อจะได้แข็งเกร่งถ้าไม่รู้จักที่จะยอมรับ
ความเจ็บปวดก็จะไม่รู้จักกับคำว่าโตขึ้น อย่างเช่นตอนเรียนจบใหม่ๆ ยังไม่รู้ชัดเจนว่าตัวเองชอบอะไรเลยต้องออกไปค้นหาอยู่ระยะหนึ่งกว่าจะพบกับสิ่งที่ใช่สำหรับตัวเอง
อาจมีเดินไปผิดทางบ้างไม่เป็นไรไม่มีใครประสบความสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรก ทุกคนล้วนต้องผ่านการลองผิดลองถูกมากันทั้งนั้น ทุกวันนี้นุมีชีวิตที่มีความสุขกำลังดีมีรายได้จากงานประจำและรายได้สริม นุวางแผนชีวิตว่าจะทำงานไปซักพักเพื่อเก็บเงินแล้วออกมาทำธุรกิจของตัวเอง.  

      “ผมไม่มีใครเป็นไอดอลที่ชัดเจน ผมมองว่าตัวผมเองนี่แหล่ะคือไอดอลของผม
ทำไมเราต้องไปฟังคนอื่นทั้งที่เราก็ทำเองได้เขาทำของเขาได้เราก็สามารถทำของเราได้ ทุกวันนี้ผมมีความสุขกับรายได้จากงานประจำแล้วก็มีความสนุกกับงานเสริมซึ่งตอนนี้ผมเปิดรับงานจากลูกค้าโดยตรง ทำตั้งแต่เขียนแบบวงจรไฟฟ้า เขียนแบบสามมิติ เขียนโปรแกรม แล้วก็ประกอบตู้เอง ทำเองทุกอย่าง ก็มีลูกค้า เป็นบริษัทประจำที่ให้งานอย่างต่อเนื่อง แต่ผมยังไม่หยุดแค่นี้ ผมยังมีเป้าหมายชีวิตใหม่ที่ท้าท้ายให้ผมทำมันให้สำเร็จในฐานะเจ้าของกิจการ สำหรับผมชีวิตที่ดีไม่ใช่การออบแบบ แต่มันคือการที่ต้องลงมือทำ โดยใช้ความมุ่งมั่นพยายามของตัวเราเองในการสร้างอนาคตที่ดี ”