เติมฝัน ปันสุข

นางสาวจุติกาญจน์ จุติโชติ (แอร์)

นักกิจกรรมบำบัด ขจัดทุกข์ เติมเต็มความสุขให้ผู้ป่วย
อาชีพใหม่ที่ประเทศไทยกำลังขาดแคลน
“อดีตนักเรียนทุน SCG Sharing The Dream โดย มูลนิธิเอสซีจี”

นักกิจกรรมบำบัด ขจัดทุกข์ เติมเต็มความสุขให้ผู้ป่วย
อาชีพใหม่ที่ประเทศไทยกำลังขาดแคลน

นางสาวจุติกาญจน์ จุติโชติ (แอร์)

      ถ้าพูดถึงนักกายภาพบำบัด เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นหูและรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่ถ้าพูดถึงนักกิจกรรมบำบัด เชื่อว่าอีกหลายคนในสังคมคงยังไม่คุ้นชินหรือ รู้จักกับอาชีพใหม่ที่ถือเป็นอีกหนึ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่นำเอากิจกรรมต่างๆ และอุปกรณ์มาเป็นสื่อในการบำบัดรักษาผ่านเทคนิคและวิธีการที่เฉพาะเจาะจงกับบุคคลนั้นๆ เพื่อเสริมสร้างทักษะต่างๆ และส่งเสริมให้เกิดการดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ซึ่งถือว่ามีบทบาทหน้าที่สำคัญในการบำบัดและช่วยฟื้นฟูส่งเสริมศักยภาพของผู้ป่วยบุคคลในทุกช่วงวัยไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยจิตเวช ที่มีความยากลำบากในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต จึงเห็นได้ว่านักกิจกรรมบำบัดเป็นอาชีพที่ตลาดงานต้องการเป็นอย่างมาก เรียนจบมีงานทำแน่นอน เป็นงานที่เหมาะสำหรับคนที่มีใจรักในการช่วยเหลือผู้อื่นให้กลับมามีรอยยิ้มและสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้ แอร์-จุติกาญจน์ จุติโชติ เธอจึงเลือกเรียนในสิ่งที่ใช่เพื่อทำงานที่ชอบเพื่อสานฝันการเป็นนักกิจกรรมบำบัด

กิจกรรมบำบัดคืออะไร ทำไมถึงตัดสินใจเลือกเรียนสาขานี้

      พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 ได้อธิบายความหมายของกิจกรรมบําบัดไว้ว่า หมายถึง การกระทําเกี่ยวกับความสามารถของบุคคลที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย จิตใจ การเรียนรู้และการพัฒนาเกี่ยวกับเด็ก โดยกระบวนการตรวจประเมิน ส่งเสริม ป้องกันบําบัด และฟื้นฟู สมรรถภาพ ให้สามารถทํากิจกรรมต่างๆ ได้ เพื่อให้บุคคลดําเนินชีวิตได้ตามศักยภาพ โดยใช้กิจกรรม วิธีการ และอุปกรณ์ที่เหมาะสมมาเป็นวิธีการในการบําบัด

      ย้อนกลับไปตอนที่แอร์กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 และกำลังเตรียมตัวจะสอบเข้าเรียนต่อ ในรั้วมหาวิทยาลัยนั้น แอร์ยังไม่รู้ตัวเองแน่ชัดว่าจะเลือกเรียนต่อสาขาอะไร รู้เพียงแค่ว่าอยากเรียนเกี่ยวกับแพทย์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือด้านเทคนิคการแพทย์ซึ่งมีหลายสาขาที่น่าสนใจ เพราะตัวเองเป็นเด็กสายวิทย์ ที่มุ่งมั่นเรียนวิทย์คณิตมาตลอด และแอร์ก็ยังมีความฝันว่าอยากทำงานที่ได้ ช่วยเหลือผู้อื่นด้วยจึงลองหาข้อมูลเกี่ยวกับคณะที่เปิดสอนภาควิชาตัวเองสนใจและได้ทำตามความฝัน แล้วก็มาเจอคณะเทคนิคการแพทย์ สาขากิจกรรมบำบัด ซึ่งดูน่าสนใจและตรงกับที่ตัวเองชอบ อีกทั้งเป็นคณะเทคนิคการแพทย์ที่มีความเก่าแก่เป็นอันดับ 3 ของประเทศที่มีสาขาวิชาครอบคลุมทุกด้าน และยังเป็นสาขาวิชาชีพทางด้านเทคนิคการแพทย์ที่ยังขาดแคลนบุคลากรและมีความต้องการในตลาดงานอย่างต่อเนื่อง จบมาก็สามารถทำงานให้คำแนะนำและการบำบัดรักษาบุคคลที่มีปัญหาทางกาย ทางจิตใจและอารมณ์ในโรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ เด็กปัญญาอ่อน และผู้สูงอายุ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยทางจิตเวช สถาบันกระตุ้น พัฒนาการเด็ก สถานส่งเสริมสุขภาพ ศูนย์ออกกำลังกาย สปา แอร์จึงตัดสินใจเลือกเรียนสาขากิจกรรมบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

      สาขาวิชากิจกรรมบำบัด ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในชั้นปีที่ 1 – 3 นักศึกษาจะเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิทยาศาสตร์การแพทย์ และศิลปะศาสตร์ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการช่วยเหลือ ป้องกัน รักษา ส่งเสริม และฟื้นฟู ความสามารถในการดำเนินชีวิตของคนที่มีปัญหาด้านต่างๆ ทุกเพศทุกวัย จากนั้นในปีที่ 4 จะได้ออกไปให้บริการวิชาการแก่ชุมชนและฝึกปฏิบัติงาน เพื่อนำสิ่งที่นักศึกษาได้เรียนรู้ในรายวิชาเฉพาะไปใช้จริง เช่น การฝึกผู้พิการทางกาย ที่เป็นอัมพาตครึ่งซีก หรือครึ่งท่อน แขนขาขาด ผู้ป่วยที่ผิดปกติทางจิตใจ เช่น โรคจิตซึมเศร้า จิตเภท เด็กที่มีปัญหาด้านการพัฒนาการหรือสมองผิดปกติ เช่น เด็กปัญญาอ่อน เด็กเรียนรู้ช้า ตลอดจนถึงผู้สูงอายุที่มีความเสื่อมตามวัย โดยจะให้คำแนะนำและดัดแปลงกิจกรรมที่ผู้ป่วยทำเป็นกิจวัตรประจำวัน ทั้งงาน อาชีพ หรือกิจกรรมนันทนาการ เพื่อ ให้ผู้ป่วยนำกิจกรรมเหล่านี้ไปใช้และสามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่าตามระดับความสามารถเป็นอิสระ และไม่เป็นภาระครอบครัว

“การเรียนสาขากิจกรรมบำบัดในช่วงปี 1-2 เรียนเกี่ยวกับทฤษฎีเป็นหลักเรียนครอบคลุมวิชาด้านแพทย์เบื้องต้นด้วย เช่น นิวโร (Neurology) ออร์โธปิดิกส์ (Orthopedics) เพราะจะต้องเจอกับผู้ป่วยระบบประสาทและกระดูก เรียนเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กและโรคในเด็ก รวมถึงเรียนวิชาจิตเวช ช่วง 2 ปีแรกจะเรียนแต่ทฤษฎี พอขึ้นปี 3-4 ถึงจะเรียนปฏิบัติแล้วได้ออกไปฝึกงานนอกสถานที่ ตอนปี 3 หนูฝึกงานหลายที่ทั้งในโรงพยาบาล ศูนย์ผู้สูงอายุ คลินิกชุมชน ศูนย์พัฒนาการเด็ก และโรงเรียน พอปี 4 สามารถเลือกที่ฝึกเองได้ก็เลือกไปฝึกที่โรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่ค่ะ ได้พบผู้ป่วยจริง ๆ ได้ใช้วิชาที่เรียนมาปฎิบัติจริงก็รู้สึกดีมากค่ะ ทำให้หนูมั่นใจว่าตัดสินใจไม่ผิดที่เลือกเรียนสาขานี้เพราะหน้าที่และเป้าหมายหลักของนักกิจกรรมบำบัด คือ การช่วยให้บุคคลสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข แม้ศักยภาพทางด้านร่างกายและจิตใจจะลดลงจากเดิม”

โอกาสทางการศึกษา คือ ดอกผลของการทำดี

      แอร์ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการช้างบำบัดเพื่อเด็กพิเศษ โดยภาควิชากิจกรรมบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นโครงการที่นำช้างมาเป็นสื่อกลางในการบำบัดเด็กพิเศษผ่านกิจกรรมบำบัด โดยมีนักศึกษาที่เป็นนักกิจกรรมบำบัดคอยดูแลเด็กพิเศษอย่างใกล้ชิด โดยในโครงการเปิดรับสมัครนักเรียนเทคนิคการแพทย์ ที่มีฐานะยากจน ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อมาเป็นทีมในการดำเนินโครงการฯ โดยจะได้รับการสนับสนุนเป็นทุนการศึกษา แอร์จึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ และได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุนจากมูลนิธิเอสซีจี และการได้เข้าร่วมโครงการฯ ยิ่งทำให้แอร์มีประสบการณ์ทำงานตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาและมั่นใจได้ว่าสาขาที่เธอเลือกเรียนมันสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้จริงๆ และยังมีคนอีกมากที่กำลังรอรับการช่วยเหลือ อาทิ เด็กสมาธิสั้น ออทิสติก ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ เป็นต้น และอาชีพนักกิจกรรมบำบัดมีความสำคัญและจำเป็นมากในปัจจุบัน เพราะมีหน้าที่ช่วยเหลือในทุกด้านเพื่อให้บุคคลนั้นสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันให้ได้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด

“การได้เข้าร่วมโครงการนี้ เป็นโอกาสที่ดีที่สุดในชีวิตของหนูเลย เพราะได้ฝึกงานจริง และยังได้รับทุนการศึกษา ต้องขอขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่ให้โอกาสทางการศึกษาทำให้หนูมีหลักประกันในชีวิตว่าจะสามารถเรียนจนจบปริญญาตรี และออกไปทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยได้ตามที่ฝันไว้ และตลอดเวลาที่ร่วมโครงการทำให้หนูได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานในผู้ป่วยเคสต่างๆ ที่ล้วนมีประโยชน์ในการทำงานในวิชาชีพสายนี้
มีเคสหนึ่งน้องมีปัญหาเรื่องไม่ยอมพูด จะพูดทีก็ช้ามากคาดว่าน่าจะเป็นออทิสติก แม่ก็พาน้องมาฝึกกับหนู
หลังจากผ่านกิจกรรมบำบัดแล้วปรากฎว่าน้องจากเด็กที่ไม่ยอมสื่อสารเลยก็สามารถพูดได้เป็นคำ คำ แม่ของน้องเขาดีใจมากที่ลูกเขาสามารถสื่อสารกับแม่ได้ บอกความต้องการของตัวเองได้ เขาก็เอ่ยปากขอบคุณหนู
หนูได้ยินแล้วรู้สึกดีใจ ภาคภูมิใจและมีความสุขมากที่สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ปลดเปลื้องความทุกข์ใจของเขา
ให้เบาลง ทำให้หนูยิ่งมุ่งมั่นและตั้งใจว่าจะเป็นนักกิจกรรมบำบัดให้ดีที่สุด เพราะนอกจากงานที่เราทำจะได้เงินแล้ว หนูยังได้รับความอิ่มเอมใจและมีความสุขทุกครั้งที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น ถือเป็นกำไรของชีวิต”

ความก้าวหน้าในวิชาชีพนักกิจกรรมบำบัด

      นักกิจกรรมบำบัด อาชีพนอกกระแสที่ขาดแคลนในประเทศไทยคนเรียนสาขากิจกรรมบำบัดน้อยทำให้คนภายนอกแทบจะไม่รู้จักกับวิชาชีพนักกิจกรรมบำบัด ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัย เพียง 2 แห่ง ที่เปิดสอนสาขากิจกรรมบำบัด ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งอาชีพนักกิจกรรมบำบัดเป็นอาชีพที่น่าสนใจและมีรายได้ค่อนข้างสูงอีกทั้งยังเป็นอาชีพที่ตลาดงานต้องการตัว เมื่อเรียนจบสามารถทำงานในสถานที่ได้หลากหลาย อาทิ โรงพยาบาล โรงพยาบาลจิตเวช คลินิกเด็ก โรงเรียนเด็กพิเศษ ตลอดจนเป็นที่ปรึกษา ทางวิชาการให้กับองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตตลอดทุกช่วงวัย ตลอดจนศึกษาต่อเพื่อพัฒนาเป็นผู้เชี่ยวชาญนักวิชาการ นักวิจัย และอาจารย์ รวมทั้งสามารถทำงานเป็นนักกายภาพบำบัดในต่างประเทศ ผู้แทนจัดจำหน่ายอุปกรณ์ทางกายภาพบำบัดและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย

      ปัจจุบันแอร์เป็นนักกิจกรรมบำบัดประจำคลินิกกระตุ้นพัฒนาการเด็กอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นคลินิกกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ที่พ่อแม่พามาทำกิจกรรมบำบัดที่คลินิกคือเด็กสมาธิสั้นและเด็กออทิสติกที่แพทย์แนะนำให้มาทำกิจกรรมบำบัดที่นี่

“อาชีพนักกิจกรรมบำบัดเป็นที่ต้องการของตลาด สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล คลินิกฟื้นฟู คลินิกเด็ก ทำได้หมดเลยค่ะ ส่วนใหญ่คนที่เรียนจบสาขานี้จะนิยมไปทำงานตามคลินิกเด็กหรือไม่ก็ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็กค่ะ เพื่อนที่จบมาพร้อมกันก็มีงานทำกันทุกคน บางคนเลือกมาทำงานในกรุงเทพฯ บางคนเลือกไปทำงานต่างจังหวัด ผลตอบแทนที่ได้ก็ตามพื้นที่เศรษฐกิจ ถือว่ารายได้ดีทีเดียว ไม่มีใครตกงานเลยสักคน ระหว่างเรียนอาจจะมีเหนื่อย มีท้อ มีล้ากันบ้าง และต้องเผชิญหน้ากับความสำเร็จและความผิดพลาด แต่หนูเชื่อว่าทุกคนสามารถทำผิดพลาดกันได้แต่เมื่อพลาดแล้วควรเก็บข้อผิดพลาดมาเป็นบทเรียนแล้วนำมาพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขิ้น ถ้าเหนื่อยมากก็แค่พักให้สมอง ร่างกาย และหัวใจได้ผ่อนคลาย พอโล่งสบาย มีเรี่ยวแรงแล้วค่อยกลับมาสู้ต่อ ท้อแต่ไม่ถอย ความสำเร็จก็ไม่ไกลเกินเอื้อมค่ะ เมื่อเรามองย้อนกลับไปจะเห็นว่าตัวเองเก่งมากที่ผ่านมันมาได้ ก็อยากจะฝากถึงน้องๆ ที่กำลังจะเลือกเรียนต่อ แล้วสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็อยากแนะนำให้เลือกเรียนสาขานี้เพื่อเป็นนักกิจกรรมบำบัด เพราะความรู้ที่ได้มาสามารถทำงานได้จริงทั้งในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน หรือในอนาคตก็สามารถเติบโตเป็นเจ้าของคลีนิกดูแลผู้ป่วยด้วยตนเองได้”

เลือกทำงานที่บ้านเกิด
เพราะให้ความสำคัญกับคำว่าครอบครัว

      แอร์เป็นคนเชียงใหม่แต่กำเนิด เกิดและเติบโตที่นี่ แอร์เป็นลูกคนเดียวของพ่อแม่ เมื่อเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว ก็ถึงเวลาที่แอร์ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญอีกครั้ง ว่าจะเลือกครอบครัว หรือรายได้ เพราะสาขาที่แอร์เรียนจบมานั้นเป็นที่ต้องการของตลาดงานเป็นอย่างมาก สามารถเลือกทำงานได้ทั้งในโรงพยาบาลหรือศูนย์ ฟื้นฟูใหญ่ ๆ ในกรุงเทพฯ ซึ่งจะทำให้ได้รับผลตอบแทนสูง บางท่ีคิดค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมง ถ้าแอร์เลือกมาทำงานในเมืองก็จะมีเงินส่งกลับมาให้ทางบ้านได้ เยอะขึ้น แต่ถ้าเลือกทำงานอยู่ในจังหวัดบ้านเกิด แอร์ก็มีงานทำเหมือนกัน แต่ที่ สำคัญคือยังสามารถใช้ชีวิตอยู่กับพ่อแม่ได้ดูแลทุกคนในครอบครัว แต่รายได้คงไม่มากเท่ากับคนที่ไปทำงานในเมืองใหญ่ แอร์ชั่งใจอยู่นานก่อนจะตัดสินใจละทิ้งรายได้ก้อนโตและเลือกทำงานอยู่ที่เชียงใหม่ด้วยเหตุผลที่จะได้อยู่กับครอบครัวได้เห็นหน้าพ่อแม่ทุกวัน ทำให้มีรอยยิ้มและความสุข ตลอดจนมีกำลังใจ ในการดำเนินชีวิต เพราะสำหรับแอร์แล้วนอกจากจะรักในการช่วยเหลือคนอื่นแล้ว ความรัก ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยหล่อเลี้ยงหัวใจของแอร์ให้ชุ่มชื้นและมีพลัง

“เลือกทำงานที่เชียงใหม่ แม้เงินเดือนจะน้อยหน่อย แต่อย่างน้อยก็ยังได้อยู่บ้านกับครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตากันพ่อแม่ลูก แค่ได้เห็นหน้าพวกเขาทุกวัน มันมีความสุขกว่าที่ต้องไปดิ้นรนอยู่คนเดียวลำพังในเมืองใหญ่ แม้ว่ารายได้จะมากกว่าก็ตามแต่ค่าครองชีพ ค่ากินค่าอยู่ก็สูงตามไปด้วย และหนูก็เป็นห่วงพ่อกับแม่มากถ้าต้องห่างกันไปอยู่ไกลๆ เพราะครอบครัวเรามีกันแค่สามคน ดังนั้นจึงตัดสินใจเลือกทำงานอยู่ที่บ้านเกิด เพราะในเชียงใหม่ก็มีโรงพยาบาล คลินิกมากมายให้ทำงานเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ หนูอาจไม่มีเงินมากแต่หนูเลือกที่จะมีเวลาให้กับครอบครัวให้มาก เพราะหนูเชื่อว่ามีเงินมากแค่ไหนก็ซื้อเวลาไมได้ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่มีคุณภาพคือเวลาที่ใช้ร่วมกับครอบครัว”