ชนัญณิฏา วงทองเหลือ (ยีนส์)

อดีตนักเรียนทุน มูลนิธิเอสซีจี

หน้ามือเป็นหลังมือ

        ชีวิตบางทีก็แชลเลนจ์หนักจนพังไปเหมือนกัน ‘ฟ้า – ชมพูนุช โคตรรวงค์’ ก็เจอแบบนั้น ตอนแรกครอบครัวก็อบอุ่นดี แต่พอมาวันหนึ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ “ครอบครัวฟ้าฐานะปานกลางค่ะ คุณแม่เป็นแม่บ้าน คุณพ่อเป็นเกษตรกร พอพี่สาวเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ช่วงนั้นค่าใช้จ่ายเยอะ แม่ก็ไปอยู่กับพี่สาว แล้วก็หางานทำที่กรุงเทพฯ ส่วนฟ้าอยู่กับพ่อ จากนั้นก็มีปัญหาครอบครัวมาหลายอย่างเลยค่ะ คือมันหนักสะสมจนพ่อแม่แยกทางกันเลย”

สอบติดพยาบาลแต่ไม่มีทุน

          พอครอบครัวมีปัญหา ฟ้าก็ต้องทบทวนเรื่องเรียนให้ชัวร์ “ตอนนั้นสอบติดพยาบาล แต่มีปัญหาการเงิน สู้ค่าเทอมไม่ไหว พอดีมีรุ่นพี่แนะนำสาขาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ที่วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร รู้สึกสนใจ เลยลองดูค่ะ” ฟ้าเล่าว่าเรียนที่นี่ก็คล้ายพยาบาล ความปังคือเรียนจบปุ๊บก็มีงานรองรับ แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ตอนนี้พบคนเครียด 1 อัตรา “มีบางช่วงที่ฟ้าคิดจะลาออก คือเหนื่อยและกดดันมาก เพราะหลักสูตรที่เรียนแค่ 2 ปีมันสั้น ทุกอย่างอัดแน่น เรียน 7 วันไม่มีวันหยุด แถมมีฝึกงานด้วยค่ะ” ซึ่งฟ้าเครียดก็เพราะสิ่งที่ทำคือชีวิตคน “มันผิดพลาดไม่ได้นะคะ ก็เลยกดดันตัวเอง แต่พอปรับตัวได้ก็ค่อย ๆ ดีขึ้น กลายเป็นตื่นเต้น สนุก แชลเลนจ์ดีค่ะ” นอกจากเรียน กิจกรรมฟ้าก็เหมาเรียบ ทั้งงานสโมสรนักศึกษา งานบายเนียร์ “ถ้าเรียนอย่างเดียวก็ได้ความรู้ แต่ถ้าทำกิจกรรม เราจะได้ทักษะการทำงานด้วยค่ะ”

ได้ทุนก่อนกู้ กยศ.

          อย่างที่บอกไปว่าเรื่องเงินคืออุปสรรคของฟ้า ถ้าไม่นับเรื่องการหารายได้เอง หากได้ทุนมาช่วยสักก้อนก็น่าจะช่วยได้เยอะ “ฟ้าตั้งใจว่าจะกู้ กยศ. แต่ได้ข่าวจากทางกิจการนักศึกษาว่ามีทุนของมูลนิธิเอสซีจีมา ก็เลยสมัครดูค่ะ อาจารย์เรียกไปสัมภาษณ์ เราก็ส่งรายละเอียดครบเลย จัดเต็ม แล้วก็ได้ทุนมา ซึ่งช่วยได้เยอะมากค่ะ” โดยฟ้าก็นำทุนมาจัดการจ่ายค่าเทอม ส่วนต่างก็แบ่งไว้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนอื่น ๆ ด้วย

ตัวจริงพึ่งพิง (ตัวเอง) ได้

         ตอนเรียนกดดันแค่ไหน ถึงเวลาทำงานก็คูณสองไปเลย “ตอนฝึกงานเรายังมีอาจารย์พี่เลี้ยง แต่ทำงานจริงไม่ใช่นะคะ เราคือตัวจริงที่ต้องพึ่งพิงตัวเองได้ ต้องทำทุกอย่าง เช่น แทงเข็มน้ำเกลือ ทำ CPR ฯลฯ นี่ยังไม่นับปัญหาเวลาคนไข้ไม่เข้าใจกระบวนการทำงาน ซึ่งต้องอธิบายกันยืดยาว” ฟ้าบอกว่างานด้านนี้หากพลาดอะไรขึ้นมาจะค่อนข้างเป็นเรื่องใหญ่มาก ง่าย ๆ คือห้ามพลาดเลยดีกว่า เพราะทุกครั้งที่พลาด คนที่พังไม่ใช่แค่ทีม แต่เป็นคนไข้ ซึ่งจะมีปัญหาอื่น ๆ อีกหลายสิ่งตามมา จากนั้นชวนคุยต่อเรื่องการออกเหตุฉุกเฉิน ฟ้าเล่าแบบตื่นเต้นว่า “มันท้าทายมากค่ะพี่ เราจะไม่รู้เลยนะว่าต้องเจอสถานการณ์แบบไหน ลุ้นสุด ๆ บางครั้งรับรายงานว่าคนไข้มีสติ พอไปถึงคือหมดสติแล้ว บางทีรับรายงานว่าคนไข้ยังไหว พอไปถึงก็โคม่าแล้ว อย่างถ้าเป็นเคสอุบัติเหตุหมู่ เราต้องจัดการให้ได้ว่า อะไรทำก่อนหลัง สติต้องดี ตั้งแต่ทำงานมาบอกเลยว่าเจอเคสใหม่ทุกวัน นี่ก็เลยเป็นเหตุผลที่ฟ้าตัดสินใจว่าจะอัปสกิลเรียนต่อเกี่ยวกับระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จะได้รับมือได้ดีขึ้นเวลาออกเคส ฟ้าทิ้งท้ายอย่างสุดปังว่า อยากพัฒนาตัวเองด้านนี้ค่ะ จะได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) ในประเทศเราให้ดีขึ้น