ดร.พงศธร สายสุจริต (ปอม)

อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

ผู้สร้าง “ดาวเทียม” สัญชาติไทยดวงแรก

      ย้อนเวลากลับไปเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2536 มีการถ่ายทอดสดการส่งดาวเทียมไทยคม (THAICOM 1) ดาวเทียมดวงแรกของไทยขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศ ขณะนั้นอาจารย์ปอม-ดร.พงศธร สายสุจริต ยังเรียนอยู่ในชั้นประถม เขานั่งดูการถ่ายทอดสดด้วยใจจดจ่อเห็นภาพจรวดกำลังทยานขึ้นสู่ท้องฟ้ามีควันมหึมาลอยพุ่งออกมาจากฐานปล่อย แค่เพียงชั่ววินาทีสั้นๆ แต่ได้จุดประกายความฝันให้กับเขา เด็กน้อยบอกกับตัวเองว่า “อยากเป็นนักสร้างดาวเทียม” ถึงแม้ว่าความฝันในวัยเยาว์ของเขาดูจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่เขาก็ไม่เคยหยุดฝัน และต้องการทำมันให้เป็นความจริงด้วยการมุ่งมั่นตั้งใจศึกษาหาความรู้และโอกาส จนในที่สุดเขาสามารถสร้างดาวเทียมได้สำเร็จ และที่สำคัญยังเป็นการสร้างดาวเทียมสัญชาติไทยดวงแรกที่ผลิตในประเทศไทยและได้ส่งขึ้นสู่วงโคจร ส่งไปโลดแล่นอยู่ในอวกาศได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2561

      ใครจะไปคิดว่าความฝันของเด็กต่างจังหวัดธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่ดูว่ามันจะเป็นเรื่องใหญ่เกินตัวจะกลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมาได้ ตลอดการเดินทางกว่าจะถึงฝั่งฝันคงเต็มไปด้วยอุปสรรคแต่ด้วยแรงบันดาลใจและไฟฝันคือสิ่งที่ผลักดันให้เขากล้าที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างไม่ยอมแพ้

      “ตอนที่นั่งดูถ่ายทอดสดผมเห็นภาพจรวดส่งดาวเทียมถูกปล่อยขึ้นไป ผมรู้สึกตื่นเต้น รู้สึกว่ามันดูล้ำ ดูเจ๋ง ไม่คิดว่ามันจะมีอยู่จริงในโลกใบนี้
เคยเห็นแต่ในหนังสือการ์ตูนพวกดราก้อนบอล โดเรม่อน พอได้เห็นของจริงครั้งแรกก็เกิดความตั้งใจว่าโตไปผมอยากเป็นนักสร้างดาวเทียม
ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าดาวเทียมคืออะไร ขอสารภาพว่าเคยหลงคิดว่าตัวจรวดมันคือดาวเทียม เพิ่งมารู้ตอนเรียน ม.ปลายว่าไม่ใช่
แต่ไม่เป็นไรอย่างไรผมก็ยังไม่หยุดทำตามความฝัน เพราะผมมั่นใจว่าผมจะทำมันได้สำเร็จ”

ก่อนจะเป็นนักสร้างดาวเทียม

      อาจารย์ปอมพื้นเพเดิมเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ไปเติบโตที่จังหวัดอุตรดิตถ์เพราะพ่อเป็นตำรวจย้ายไปประจำการที่นั่น อาจารย์ปอมในวัยเด็กใช้ชีวิตแบบเด็กทั่วไปที่ชอบอ่านหนังสือการ์ตูน เล่นเกม แต่ที่ดูต่างจากเด็กคนอื่น ๆ คือ ชอบรื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ในบ้าน ที่เสียแล้วนำมาแกะ มาถอดออกเป็นชิ้น ๆ จนถูกบ่นเป็นประจำ พอเรียนต่อระดับมัธยมต้นก็ย้ายมาเรียนที่โรงเรียนพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี แต่เขายังคงเก็บความฝันที่อยากจะเป็นนักสร้างดาวเทียมเอาไว้ในใจเสมอ แม้ว่าเส้นทางชีวิตเขายังมองไม่เห็นหนทางว่าจะเดินไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร แต่เขาก็ยังไม่ยอมแพ้ล้มเลิกความฝัน

      จนกระทั่งมาถึงจุดเปลี่ยนชีวิตเมื่ออาจารย์ปอมสามารถสอบเข้าเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ และสามารถสอบชิงทุน ก.พ. (ทุนคณะกรรมการข้าราชการ พลเรือน) ติด 1 ใน 3 ของประเทศ ทำให้ได้ทุนไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น

“ผมเป็นแค่เด็กต่างจังหวัดที่ชีวิตไม่ได้เพียบพร้อมเหมือนกับเด็กในเมือง ไม่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อม
ที่พร้อมด้านการศึกษา ไม่มีใครมาคอยช่วยแนะนำ ต้องบอกว่าผมไม่ใช่คนเรียนเก่งแต่อาศัยที่
เป็นคนที่มีความพยายามและขยันอ่านหนังสือเป็นอย่างมากจนสอบเข้าเตรียมอุดมฯ
และสอบชิงทุนได้ ผมเชื่อเสมอว่าความสำเร็จจะเป็นของคนที่ไม่ละทิ้งความพยายาม”

ความมุ่งมั่น สร้างโอกาสเปลี่ยนชีวิต

      “ผมจะเรียนสร้างดาวเทียมให้เป็น ไม่งั้นผมจะไม่กลับประเทศไทย และถ้าผมกลับไปแล้ว ผมจะสร้างดาวเทียมของประเทศไทยดวงแรกให้ได้” ข้อความที่อาจารย์ปอมเขียนลงบนกระดาษแล้วติดไว้ที่โต๊ะเรียน เพื่อเป็นคำสัญญาและเตือนตัวเองตลอดเวลาว่าไม่ว่าจะรู้สึกเหนื่อยและท้ออย่างไร เขาก็จะไม่ละทิ้งความฝัน

      อาจารย์ปอมเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นที่โรงเรียนสอนภาษาในประเทศญี่ปุ่นอยู่ 2 ปี แล้วจึงสอบวัดระดับเข้าเรียนที่โรงเรียนสาธิตกักคุเก โรงเรียนรัฐบาลอันดับ 1 ของประเทศญี่ปุ่น และเป็นครั้งแรกที่อาจารย์ปอมได้รู้จักหน้าตาของดาวเทียม เขาดีใจที่ได้พาตัวเองเข้ามาใกล้ความฝันขึ้นอีกนิด ทำให้เขายิ่งเร่งศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับดาวเทียมจนรู้ว่าถ้าอยากสร้างดาวเทียมต้องเข้าเรียนต่อในคณะวิศวกรรมศาตร์ อาจารย์ปอมจึงเข้าไปขอคำแนะนำกับอาจารย์แนะแนวซึ่งอาจารย์บอกชื่อมหาวิทยาลัย 2 แห่งที่มีการสอนทำดาวเทียมในสมัยนั้น คือ มหาวิทยาลัยโตเกียว (The University of Tokyo) และ สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว (Tokyo Institute of Technology) หลังจากเปรียบเทียบกันแล้วอาจารย์ปอมเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยโตเกียว เนื่องจากมีความเก่าแก่และมีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอวกาศ อาทิ จรวดลำแรกและดาวเทียมดวงแรกของประเทศญี่ปุ่นถูกพัฒนาขึ้นที่นี่ และที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นขององค์การสำรวจ อวกาศญี่ปุ่น (JAXA)

      ด้วยความมุ่งมั่นที่มีทำให้เขาตั้งใจอ่านหนังสืออย่างหนักเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียวให้ได้ และในที่สุดอาจารย์ปอมก็สามารถสอบติดได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยโตเกียว คณะวิศวกรรมศาสตร์ เขาพาตัวเองเดินเข้าไปใกล้ความฝัน ไปอีกก้าว โดยระหว่างเรียนช่วงปี 1-2 จะเรียนรวมกันแล้วต้องสอบแข่งขันเพื่อแยกสาขาที่ต้องการจะเรียน ตอนปี 3 ซึ่งสาขาหนึ่งจะรับเพียง 50 คน ที่ทำคะแนนสูงสุดจาก 3,000 คน และตอนปี 4 ความยากก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นอีก คือนักเรียนต้องสอบแข่งขันเพื่อแยกเข้าห้องแล็บโดย 5 คนที่มีคะแนนสูงสุดจาก 50 คน จะได้เข้าเรียนในห้องแล็บที่สร้างยานอวกาศ ซึ่งอาจารย์ปอมก็สามารถเป็น 1 ใน 5 และเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เรียนในแล็บนี้

      “การใช้ชีวิตเรียนอยู่ที่ญี่ปุ่นมันเป็นสังคมที่เราต้องแข่งขันอยู่ตลอดเวลา บางครั้งก็รู้สึกเหนื่อยจนท้อ
แต่ก็ไม่ยอมแพ้ครับ คนญี่ปุ่นเป็นคนขยันและมีมาตรฐานที่สูงมาก เราจึงต้องขยันอ่านหนังสือให้หนักกว่า
คนญี่ปุ่น เพราะถ้าเราอยากพาตัวเองไปอยู่บนเวทีเดียวกับเขา เราต้องเพิ่มพยายามมากกว่าเขา
ไปอีกหลายสิบเท่า ถ้าคนญี่ปุ่นอ่าน 1 รอบ เราต้องอ่าน 10 รอบ เพื่อให้มีโอกาสชนะ
ซึ่งมันกดดันมากแต่ก็ต้องทำให้ได้เพราะเรามีเป้าหมาย มีเส้นชัยที่ต้องไปให้ถึง”

นำความรู้ (ที่น้อยคนรู้) มาพัฒนาประเทศ

      อาจารย์ปอม จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขา Aeronautics and Astronautics ปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขา Aerospace Engineering และปริญญาเอก คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขา Aeronautics and Astronautics จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ซึ่งระหว่างเรียนเขาได้สั่งสมประสบการณ์ในการร่วมสร้างดาวเทียมหลายดวง อาทิ XI-IV ดาวเทียม CubeSat ดวงแรกของโลก และ Nano-Jasmin

หลังจากเก็บเกี่ยวความรู้ทั้งทฤษฏีและปฏิบัติในประเทศญี่ปุ่นอยู่นานหลายปี ในปี พ.ศ. 2555 อาจารย์ปอมจึงเดินทางกลับมายังประเทศไทย ด้วยความตั้งใจที่อยากถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีจึงตัดสินใจไปสมัครเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย โดยได้ถูกเรียกเข้าไปสัมภาษณ์กับศาสตราจารย์ ดร. สุวัฒน์ กุลธนปรีดา ผู้ก่อตั้งภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือการสัมภาษณ์ใช้เวลาเพียง 10 นาที อาจารย์สุวัฒน์ท่านก็ตัดสินใจรับอาจารย์ปอมเข้าเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศของมหาวิทยาลัย

“ดร.สุวัฒน์ เห็นเรื่องราวชีวิตของผมแล้วถามด้วยความตื่นเต้นว่าคุณทำดาวเทียมมาเหรอ แล้วพาผมเข้าไปที่ห้องแล็บเพื่อไปดูดาวเทียมจำลองตัวแรก
ของประเทศไทยที่มีพี่ฝาแฝดอีกตัวอยู่ที่ Utah State University ท่านบอกว่าเหมือนได้ย้อนความหลัง พูดกับใครไม่รู้เรื่องมา 20 ปีแล้ว
จนวันหนึ่งคนอย่างคุณเดินเข้ามาหาผม”

      อาจารย์ปอมเริ่มสอนหนังสือตั้งแต่นั้นมา แต่ในขณะเดียวกันก็ตั้งห้องปฏิบัติการดาวเทียมให้นักศึกษาเรียนรู้และฝึกปฏิบัติการสร้างดาวเทียม โดยช่วงแรกอาจารย์ปอมใช้เงินส่วนตัวซื้ออุปกรณ์อิเล็คทรอนิคและอะไหล่มือสองจากบ้านหม้อมาสร้างดาวเทียมต้นแบบขนาดเล็ก พวกเขาเรียกมันว่า “ดาวเทียมบ้านหม้อ” เพื่อใช้เป็นตัวเดโมในการขอทุนจากหน่วยงานต่าง ๆ จนกระทั่งได้รับทุนสนับสนุนจำนวนหนึ่งจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ทำดาวเทียมดวงเล็กที่รูปร่างหน้าตาและอุปกรณ์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม ถือเป็นชุดต้นแบบเพื่อการศึกษาแต่ยังไม่สามารถใช้งานได้จริงเพราะยังไม่ถูกส่งออกไปสู่วงจรอวกาศ

      เมื่อความฝันอยู่ใกล้แค่เอื้อม อาจารย์ปอมจึงทำทุกวิธีทางเพื่อพาดาวเทียมของเขาให้มีโอกาสได้ออกไปโลดแล่นในอวกาศ โดยนำทีมพานักศึกษาและดาวเทียมต้นแบบเดินหน้าเข้าขอทุนจากหน่วยงานต่าง ๆ แต่ไม่มีหน่วยงานไหนหรือองค์กรใดสนใจให้ทุนกับพวกเขาเลย เพราะต่างมองเห็นว่าไม่มีวันเป็นไปไม่ได้ ไม่มีใครเชื่อว่าคนไทยจะทำได้สำเร็จ

เปลี่ยนเส้นทางได้ แต่จุดหมายต้องอยู่ที่เดิม
ดาวเทียมสัญชาติไทยดวงแรกที่ประกาศศักดาขึ้นสู่อวกาศ

      หลังจากตระเวนนำเสนอดาวเทียมต้นแบบเพื่อขอทุนสนับสนุนทำดาวเทียมอยู่ 2 ปี ด้วยความมุมานะไม่ถอดใจทำให้ในปี พ.ศ. 2558 อาจารย์ปอมได้รับการตอบรับจาก สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ทุนสนับสนุนการทำดาวเทียม 9,600,000 บาท โดยอาจารย์ปอมและนักศึกษาร่วมกันทำโครงการออกแบบและจัดส่งดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มีชื่อว่า KNACKSAT (แนคแซท) เป็นดาวเทียมไทยดวงแรกที่ออกแบบและพัฒนาโดยคนไทยทั้งหมด คำว่า KNACKSAT ย่อมาจาก King Mongkut University of North Bangkok Academic Challenge of Knowledge SATellite

      KNACKSAT ดาวเทียมรูปแบบคิวแซท (CubeSat) ขนาด 10x10x11.4 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวด SpaceX Falcon 9 และถูกปล่อยออกจากอุปกรณ์ปล่อยดาวเทียมเข้าสู่วงโคจร ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ 2561 สัญญาณแรกจากดาวเทียมถูกตรวจจับได้โดย นักวิทยุสมัครเล่นชาวเยอรมัน เป็นการยืนยันว่าดาวเทียมมีชีวิตและทำงานแล้ว แม้ว่าดาวเทียม KNACKSAT จะขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จและส่งสัญญาณกลับมาได้ก็ตามแต่ก็ยังทำงานไม่สมบูรณ์เนื่องจากภาคพื้น ไม่สามารถส่งสัญญาณกลับไปที่ดาวเทียม

      หลังจากนั้น 1 ปี ทางโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนติดต่อให้อาจารย์ปอมไปเป็นที่ปรึกษาสอนนักเรียนมัธยมปลายทำดาวเทียม ขณะนั้นอาจารย์ปอมพบคำตอบของปัญหาที่เกิดขึ้นกับ KNACKSAT แล้ว จึงนำปัญหาจากดาวเทียมดวงแรกสู่การพัฒนาดาวเทียมดวงใหม่ ชื่อ BCC SAT-1 ดาวเทียมฝีมือนักเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ซึ่งถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจร เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งสามารถสื่อสาร ถ่ายรูปและดาวน์โหลดรูปได้ ทำงานได้ปกติ นักวิทยุสมัครเล่น ทั่วโลกสามารถรับสัญญาณดาวเทียม BCCSAT-1 ได้ ซึ่งอีกไม่นานจะได้เห็นภาพถ่ายอวกาศจากดาวเทียมดวงนี้เป็นรูปแรก นี่เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของอาจารย์ปอมที่มีโอกาสร่วมทำดาวเทียมไทยส่งขึ้นสู่วงโคจรได้อีกครั้ง

“ทุกครั้งเวลาที่ให้สัมภาษณ์หรือไปออกงาน ผมมักเอ่ยถึงและจะขอเสียงปรบมือให้กับนักเรียนของผม
อยากให้เครดิตกับพวกเขา อยากให้เขาได้รับคำชื่นชมเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ เพราะคนที่ลงมือทำดาวเทียม

คือนักศึกษา ผมเป็นคนคอยตรวจสอบดูแบบ และให้คำแนะนำก่อนที่นักศึกษาจะเอาไปทำเท่านั้น ผมอยากให้สังคม
ได้เห็นว่าทุกความสำเร็จของคนเบื้องหน้ามันมีความพยายามของคนข้างหลังรวมอยู่ด้วยเสมอ”

ทุกความสำเร็จ ย่อมต้องฝ่าฟันอุปสรรค

      คนอื่นอาจมองว่าอาจารย์ปอมประสบความสำเร็จแล้วที่สามารถทำดาวเทียมดวงแรกของไทยได้สำเร็จ แต่ตัวเขาเองกลับมองว่ามันเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเป็นบันไดขั้นแรก เขายังมีบันได้ขั้นอื่นอีกให้ก้าวเดินต่อไป ซึ่งตอนนี้เขามีเป้าหมายใหม่ นั่นคือ อยากทำดาวเทียมดวงใหม่ให้ดวงใหญ่ขึ้นกว่าเดิม และประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากดาวเทียมดวงนี้ได้ และยังวาดฝันต่อไปอีกว่าอยากสร้างดาวเทียมไปดวงจันทร์เพื่อทำให้ประเทศไทยได้แสดงศักยภาพด้านอวกาศทัดเทียมกับประเทศ อื่นๆ เป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่ที่เขาต้องเดินต่อไป บนเส้นทางข้างหน้าอีกยาวไกล แต่เขาก็จะไปให้ถึง แม้ว่าจะมีปัญหาและอุปสรรคมากแค่ไหนก็ตาม

“ผมคิดว่าปัญหาก็เหมือนความมืด ซึ่งผมเชื่อว่าในเวลาที่มืดมิด ถ้าเราตั้งใจมองจะเห็นว่ามีอะไรบางอย่างที่เป็นแสงสว่างอ่อน ๆ คอยนำทางเราอยู่นะครับ อยู่ที่เราจะสังเกตเห็นมันหรือเปล่า ผมเป็นคนชัดเจนไม่ซับซ้อน หากรู้สึกชอบหรือรักสิ่งใดก็พร้อมลงมือทำ เพราะเมื่อเราได้ทำสิ่งที่เรารัก เราจะมีแรงบันดาลใจให้ทำสิ่งนั้นโดยไม่ต้องมีใครบังคับ ขอเพียงต้องตั้งโจทย์ให้ยากไว้เพื่อที่จะได้พยายามพัฒนาตนเอง และทำทุกทางเพื่อให้ไปสู่ความสำเร็จให้ได้ หนทางมันอาจยากและท้าทาย แต่ผมมองว่าถ้าทำอะไรแล้วได้มาง่าย ๆ ผมรู้สึกว่ามันไม่ค่อยมีค่า แล้วยิ่งถ้าเป็นสิ่งที่คนอื่นทำได้ แต่เราทำไม่ได้ ผมจะยิ่งกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมเราถึงทำไม่ได้ เป็นวิธีคิดที่ช่วยจุดประกายให้มีแรงฮึดลุกขึ้นสู้อยู่เสมอ”